ความก้าวหน้าด้านงานวิจัยและพัฒนาอุตสาหกรรมการเกษตร
อุตสาหกรรมการเกษตรเป็นอุตสาหกรรมที่มีบทบาทในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศเป็นอย่างมาก เนื่องจากก่อให้เกิดความเชื่อมโยงการผลิตระหว่างภาคเกษตรและภาคอุตสาหกรรม ถึงแม้ว่าอุตสาหกรรมการเกษตรจะมีศักยภาพในการผลิตและการส่งออก แต่การเจริญเติบโตยังไม่สามารถขยายตัวไปได้เท่าที่ควร เนื่องจากประสบปัญหาทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ ได้แก่ ปัญหาการจัดการวัตถุดิบ การขาดแคลนสาธารณูปโภคพื้นฐาน การพัฒนาและถ่ายทอดเทคโนโลยี การขาดระบบเชื่อมโยงและการรับช่วงการผลิต การตลาด กฎระเบียบของรัฐ และการกีดกันทางการค้าจึงจำเป็นที่จะต้องสร้างความสามารถในการผลิตและการแข่งขันของอุตสาหกรรมการเกษตรให้มีความเข้มแข็งขึ้น โดยการประสานความร่วมมือระหว่างหน่วยงานหลัก และหน่วยงานสนับสนุนในการจัดทำแผนแม่บทเพื่อเป็นกรอบในการพัฒนาอุตสาหกรรมการเกษตร
การพัฒนาอุตสาหกรรรมเกษตรจำเป็นต้องสร้างบุคลากรที่มีความรู้ ความชำนาญ ในด้านการวิจัย และการปฏิบัติเชิงบริหาร เพื่อเป็นการเสริมความรู้ความชำนาญทางการบริหารและการจัดการเทคโนโลยีเฉพาะอุตสาหกรรมเกษตร เป็นการแก้ปัญหาการขาดแคลนบุคลากรทางอุตสาหกรรมเกษตรที่มีวิสัยทัศน์ทางด้านการบริหารและการจัดการเฉพาะอุตสาหกรรมเกษตรเพื่อเพิ่มศักยภาพด้านเทคโนโลยีชีวภาพของประเทศ เพื่อเสริมความเข้มแข็งในกระบวนการใช้ประโยชน์จากจุลินทรีย์ในการผลิตสารชีวภาพต่างๆ รวมถึงเทคโนโลยีการตัดต่อยีน การค้นหาและสกัดสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพจากสมุนไพรเป็นการผสมผสานความรู้ด้านชีวเคมี จุลชีววิทยา และวิศวกรรมศาสตร์เข้าด้วยกัน
เนื่องจากการแข่งขันในตลาดโลกที่ทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น
ทั้งในด้านราคาและคุณภาพ กล่าวคือ ตลาดต้องการสินค้าคุณภาพดีราคาถูก การที่จะทำให้ธุรกิจอุตสาหกรรมเกษตรของประเทศไทยสามารถแข่งขันในตลาดโลกได้นั้นจำเป็นต้องมีการเพิ่มขีดความสามารถทั้งในด้านการจัดการทรัพยากร การผลิต การเงิน และการตลาด มีการประกันคุณภาพและการพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อเพิ่มมูลค่า ดังนั้นบุคลากรที่สามารถดำเนินธุรกิจดังกล่าวให้บรรลุผลสำเร็จได้ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีความรู้ทั้งทางด้านบริหารจัดการ และด้านเทคโนโลยีอุตสาหกรรมเกษตร
การมีตลาดสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรที่กว้างขึ้น
การผลิตในภาคเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรของไทยมีความก้าวหน้ามากกว่าประเทศเพื่อนบ้าน ส่วนอุปสรรคที่สำคัญ ได้แก่ ต้นทุนการผลิตของประเทศเพื่อนบ้านที่ต่ำกว่าไทย ทั้งในด้านวัตถุดิบ และแรงงาน ดังนั้นเมื่อพิจารณาทิศทางในการพัฒนาเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรตามกรอบแนวคิดจะเห็นว่า ในส่วนต้นน้ำคือ การเพิ่มผลผลิตและการพัฒนาคุณภาพผลผลิตที่ต้องให้ความสำคัญกับการจัดหาแหล่งน้ำ การวางระบบและการตรวจสอบมาตรฐาน การกระจายพันธุ์ ซึ่งจะทำให้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตอาหารแปรรูปที่สำคัญสำหรับภูมิภาคและทั่วโลกจากการใช้วัตถุดิบในประเทศ