แนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจไทยทางด้านธุรกิจอุตสาหกรรม

15

การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศไทยภายหลังใช้แผนพัฒนาฯ นับได้ว่าอยู่ในระดับที่ค่อนข้างสูง การขยายตัวของระบบเศรษฐกิจได้เปลี่ยนแปลงจากภาคเกษตรกรรมโดยเฉพาะการส่งออกข้าวเป็นรายได้หลักของประเทศ  เป็นการส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมเพื่อการส่งออก ซึ่งประเทศไทยได้เปรียบในการผลิตในด้านแรงงาน ต้นทุนการผลิตต่ำ ส่งผลให้ได้เปรียบในการผลิตสามารถแข่งขันในตลาดโลกโดยตั้งแต่ประเทศไทยมีการใช้แผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 1 จนถึงปัจจุบัน โครงสร้างและระบบเศรษฐกิจของประเทศเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างมาก สามารถสรุปถึงผลการพัฒนาประเทศที่ผ่านมาได้ดังนี้

ความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและปัญหาการกระจายรายได้โครงสร้างการผลิตได้เปลี่ยนจากภาคเกษตรกรรมเป็นภาคอุตสาหกรรม ผลิตเพื่อการส่งออก การเปิดการค้าเสรีและการลงทุน ส่งผลให้เศรษฐกิจโดยรวมของประเทศขยายตัวอย่างรวดเร็วแต่การขยายตัวไม่สม่ำเสมอ อุตสาหกรรมกระจุกตัวเฉพาะในเมืองใหญ่ๆ เกิดความเหลื่อมล้ำของการกระจายรายได้

ความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและปัญหาการใช้ทรัพยากรธรรมชาติต้นเหตุแห่งการขยายตัวของผลิตภัณฑ์หรือการผลิตประชาชาติทั้งในภาคเกษตรและอุตสาหกรรมซึ่งจำเป็นต้องใช้ปัจจัยการผลิตจำนวนมากรวมทั้งทรัพยากรธรรมชาติที่มีจำกัด ทำให้เกิดการบุกรุกที่ดิน ป่าไม้ แหล่งน้ำ ผลที่ตามมาคือ ทรัพยากรธรรมชาติเสื่อมโทรมและหมดไปอย่างรวดเร็ว

ปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำและปัญหาการว่างงานในระยะที่ผ่านมา รัฐบาลและประชาชนใช้จ่ายเงินเป็นจำนวนมาก รวมทั้งมีค่านิยมการใช้สินค้าจากต่างประเทศ การพัฒนาประเทศพึ่งพาเงินทุนและเทคโนโลยีจากต่างประเทศจำนวนมาก เป็นเหตุผลหลักที่ทำให้ไทยขาดดุลการค้าเพิ่มขึ้น ส่งผลให้เงินสำรองระหว่างประเทศลดลงอย่างรวดเร็ว

ปัญหาการแข่งขันและขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยการเปิดเสรีทางการค้าและการลงทุนทำให้การแข่งขันระหว่างประเทศรุนแรงขึ้น นอกจากต้นทุนการผลิตที่ทำให้ไทยสามารถแข่งขันกับต่างประเทศแล้ว ประเด็นที่สำคัญยังประกอบไปด้วยนโยบายและเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ การเมือง และสังคมของประเทศ ขณะที่ภาวะการณ์ในปัจจุบันขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศที่ลดลงอย่างต่อเนื่องจากสาเหตุของต้นทุนทางด้านแรงงานที่เพิ่มขึ้น ซึ่งส่งผลให้ประเทศต้องมีการพัฒนาคุณภาพของผลิตภัณฑ์ให้สูงขึ้น ได้มาตรฐานสากล